‘เงินบาท’ วันนี้แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทวันนี้ อ่อนค่าสุดรอบเกือบ 2 เดือน ที่ 34.73 ก่อนกลับมาปิดตลาดที่ 34.70 บาทต่อดอลลาร์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 34.73 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.59 บาทต่อดอลลาร์

ข่าวการเงินวันนี้

โดย เงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางฟันด์โฟลว์ (โดยในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,899.85 ล้านบาท และมีสถานะเป็น net outflows จากตลาดพันธบัตร 6,755 ล้านบาท) ขณะที่เงินดอลลาร์ ประคองทิศทางแข็งค่าจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่อาจลากยาวออกไป

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้(24 ก.พ.) คาดไว้ที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยตลาดรอติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดขายบ้านใหม่ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยยอดใช้บัตรเครดิต หมวดท่องเที่ยวพุ่ง ปิดปี 65 โต 17%

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยยอดใช้บัตรเครดิต หมวดท่องเที่ยวพุ่ง ปิดปี 65 โต 17%

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการปี 2565 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 333,000 ล้าน โตขึ้น 17% โดยเฉพาะหมวดท่องเที่ยวสายการบินโตเพิ่ม 329%

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เติบโตเป็นที่น่าพอใจ ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง รวมถึงความสำเร็จในการปรับกลยุทธ์การตลาดของบริษัทให้ตอบรับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป

โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 333,000 ล้านบาท เติบโต 17% ยอดสินเชื่อใหม่ 87,000 ล้านบาท เติบโต 13% เทียบกับปีก่อน สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ในระดับที่ดีและลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.5% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

จากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2565 หมวดที่เติบโตสูง ได้แก่

1. สายการบิน เพิ่มขึ้น 329%

2. ตัวแทนท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 186%

3. สถานเสริมความงาม เพิ่มขึ้น 93%

4. รถเช่า เพิ่มขึ้น 81%

5. โรงแรม เพิ่มขึ้น 81%

6. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 66%

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ายอดการใช้จ่ายในหมวดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น การซื้อตั๋วเครื่องบิน แพ็กเกจท่องเที่ยว โรงแรม รถเช่า รวมถึง สถานเสริมความงามและลดน้ำหนัก เติบโตสูงมาก จากความต้องการท่องเที่ยวและบริโภคเพื่อชดเชยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

การเงิน-กรุงศรี

อย่างไรก็ตาม กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ช้อปดีมีคืน โดยในช่วงปีใหม่ถึงตรุษจีนในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทฯ เห็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตขึ้น มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงเตรียมจัดทัพโปรโมชันสุดพิเศษ ทั้ง กิน ช้อป เที่ยว เพื่อเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างต่อเนื่อง และเราตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 350,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อใหม่ 97,000 ล้านบาท ภายในปี 2566

อ่านข่าวเพิ่ทเติม : ค่าเงินบาทวันนี้ 27/1/66 เปิดที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 27/1/66 เปิดที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนค่าลงเล็กน้อย 32.78 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.90 บาทต่อดอลลาร์ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มค่าเงินบาทมองว่า การเคลื่อนไหวผันผวนในฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทนั้น มาจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (ราคาทองคำย่อตัวแตะโซนแนวรับในวันก่อนหน้า) ซึ่งมองว่า ในวันนี้ เงินบาทก็มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แต่ต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงาน เงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ

โดยหากรายงานเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาด ก็อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองที่เชื่อว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากนัก ทำให้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงไม่มาก หรือ เงินบาทคงไม่ได้แข็งค่าขึ้นแรง แต่ทว่า หากเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด และกลับกันอาจเร่วขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามองว่า ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงได้เร็ว ส่งผลให้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านได้

ทั้งนี้ คงมองโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับสำคัญยังคงเป็นช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.90 บาทต่อดอลลาร์

โดยบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ GDP ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวถึง +2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี (ตลาดมอง +2.6%) ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 186,000 ราย และ 1.97 ล้านราย ตามลำดับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น และกล้ากลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ทำให้ดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +1.10%